โครงการสร้างเสริมประสบการณ์เพื่อจัดทำสื่อการเรียนการสอนประวัติศาสตร์และอารยธรรมเวียดนาม

รายวิชาประวัติศาสตร์และโบราณคดี และหลักสูตรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ดำเนินโครงการสร้างเสริมประสบการณ์เพื่อจัดทำสื่อการเรียนการสอนประวัติศาสตร์และอารยธรรมเวียดนามขึ้น ระหว่างวันที่ 24-27 มิถุนายน 2561 ณ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ให้กับอาจารย์ผู้สอนของรายวิชาและหลักสูตรฯ จำนวน 4 คน ได้แก่

1. รองศาสตราจารย์ ดร.ดารารัตน์ เมตตาริกานนท์
2. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธนนันท์  บุ่นวรรณา
3. อาจารย์ ดร.เบญจวรรณ  นาราสัจจ์
4. อาจารย์ ดร.เวียงคำ  ชวนอุดม

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้บุคลากรของรายวิชาและหลักสูตรฯ ได้ผลิตเอกสารการสอน และสื่อการสอนให้มีความทันสมัย ก้าวทันกระแสวิชาการ และมีผลงานทางวิชาการ อันจะนำไปสู่การพัฒนาการเรียนสอนให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น ทั้งในระดับชาติและนานาชาติ

ซึ่งกิจกรรมประกอบด้วยการเดินทางสำรวจและเก็บข้อมูลตามสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์และอารยธรรมเวียดนาม ทั้งในนครโฮจิมินห์ และนครด่าหลัด

ในนครโฮจิมินห์ ได้เข้าชมพิพิธภัณฑ์สตรีที่ถนนหว๋อถิเส้า ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์สตรีที่ใหญ่ที่สุดในนครโฮจิมินห์ สถานที่แห่งนี้ได้บอกเล่าเรื่องราววีรสตรีที่สำคัญ ๆ ในประวัติศาสตร์เวียดนามในช่วงที่จีนปกครองและมีการจัดแสดงภาพสตรีที่สำคัญ ๆ ในช่วงต่อสู้กับสหรัฐอเมริกา ในส่วนหอสมุดแห่งชาติโต๋งเฮิบนับว่าเป็นห้องสมุดที่มีความทันสมัยและใหญ่ที่สุดของประเทศเวียดนาม ที่นี่จัดเก็บเอกสารสำคัญ ๆ เช่น หนังสือพิมพ์เก่า  วารสารเก่าในยุคสมัยการสร้างชาติ และรวบรวมวิทยานิพนธ์ทั่วทั้งประเทศเวียดนามไว้ที่นี่ ฯลฯ สถานที่แห่งนี้ยังมีระบบการจัดเก็บเอกสารที่ทันสมัย สะดวกและง่ายต่อการสืบค้นของผู้ใช้ทั้งคนในประเทศและต่างประเทศ บริเวณโดยรอบตัวนครโฮจิมินห์ก็ยังหลงเหลือสถาปัตยกรรมยุคสมัยโคโลเนียลให้เยี่ยมชม เช่น โบสถ์นอร์ธเธอดาม ไปรษณีย์กลาง และโอเปร่าเฮ้าส์เป็นต้น

ส่วนนครด่าหลัด จังหวัดเลิมด่ง เป็นแหล่งศึกษาทางประวัติศาสตร์และอารยธรรมที่สำคัญแห่งหนึ่งของเวียดนามในยุคอาณานิคมฝรั่งเศส อีกทั้งยังเป็นเมืองตากอากาศของกลุ่มผู้ปกครองในยุคนั้น ประกอบด้วยสถานที่สำคัญๆ ดังนี้

พิพิธภัณฑ์เลิมด่ง (Lam Dong Museum ) แหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆของเวียดนาม ที่นี่มีการจัดแสดงนิทรรศการพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของจังหวัดตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์จนถึงยุคประวัติศาสตร์ในปัจจุบัน  มีการจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้  วิถีชิวิตความเป็นอยู่ของกลุ่มชาติพันธ์ต่าง ๆ การแต่งกาย บ้านเรือนที่อยู่อาศัย ตลอดจนแสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมการกินของคนพื้นเมือง  และพัฒนาการประวัติศาสตร์ของจังหวัดตั้งแต่ยุคฝรั่งเศสปกครอง  ยุคการเข้ามาแทรกแซงทางการเมืองของสหรัฐอเมริกาในเวียดนามใต้ และช่วงการต่อสู้ของคนพื้นเมืองจนปลดปล่อยชาติเป็นผลสำเร็จ  และพิพิธภัณฑ์ยังเป็นสถานที่สำคัญในการจัดประชุมวิชาการระดับชาติของประเทศอีกด้วย  นอกจากนี้ ยังได้ไปเยี่ยมชมพระราชวังบ๋าวด่าย กษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์เหงวียนแห่งเวียดนาม  การจัดแสดงภาพถ่ายกษัตริย์บ๋าวด่ายและ พระราชวงศ์ ในพระราชวังมีห้องทำงาน ห้องพักผ่อน ห้องรับแขกและอื่นๆ เป็นต้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นสถาปัตยกรรมในแบบโคโลเนียล   การเยี่ยมชมตลาดด่าหลัดซึ่งเป็นแหล่งรวมสินค้าของพืชผลการเกษตรเมืองหนาวและสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตของคนท้องถิ่นได้อย่างน่าสนใจ

การเดินทางมาสำรวจศึกษาในครั้งนี้ทำให้ได้รับทราบข้อมูลใหม่ และประสบการณ์เพื่อนำไปจัดทำสื่อการเรียนการสอนของสาขาประวัติศาสตร์และโบราณคดีและหลักสูตรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา รวมทั้งการผลิตผลงานวิชาการ เพื่อนำเสนอในระดับชาติและระดับนานาชาติต่อไป

นอกจากนั้นทางคณะเดินทางยังได้ถือโอกาสนี้ ขออนุญาตเข้าพบท่านกงสุลใหญ่ ณ นครโฮจิมินห์ นางอุรีรัชต์ รัตนพฤกษ์ ในวันที่ 25 มิถุนายน 2561 ที่สถานกงสุลใหญ่ ณ นครโฮจิมินห์ เพื่อขอคำแนะนำและหารือเรื่องโอกาสในการรับนักศึกษาของหลักสูตรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาเข้าฝึกงานตามโครงการสหกิจศึกษา ณ นครโฮจิมินห์ ซึ่งการเข้าพบท่านในครั้งนี้ได้ประโยชน์อย่างมาก โดยเฉพาะได้แนวทางในการเตรียมความพร้อมด้านต่างๆ ให้นักศึกษาก่อนออกฝึกงานตามโครงการสหกิจศึกษา พร้อมทั้งคำแนะนำและความช่วยเหลือในด้านต่างๆ นอกจากนั้นท่านกงสุลใหญ่ยังได้กรุณาพาเยี่ยมชมโดยรอบสถานกงสุลใหญ่และบ้านพัก ซึ่งเป็นอาคารที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-เวียดนาม ซึ่งเป็นโอกาสดีที่หาได้ยากยิ่ง (ดูรายละเอียดเพิ่มเติม)

แม้ระยะเวลาของการสำรวจศึกษาในครั้งนี้จะเป็นช่วงสั้นๆ แต่ก็ได้รับทราบข้อมูลใหม่ๆ และประสบการณ์ในพื้นที่จริง ซึ่งจะมีประโยชน์อย่างยิ่งในการพัฒนาศักยภาพของอาจารย์ผู้สอน และจะส่งผลต่อเนื่องต่อการพัฒนาการเรียนการสอนที่ผู้ได้รับประโยชน์อย่างแท้จริงก็คือ นักศึกษา นั่นเอง






























ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น