โครงการสำรวจศึกษาแหล่งประวัติศาสตร์และโบราณคดีในจังหวัดนครราชสีมา

รายวิชาประวัติศาสตร์และโบราณคดี อาณาบริเวณศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้จัดโครงการโครงการสำรวจศึกษาแหล่งประวัติศาสตร์และโบราณคดีในจังหวัดนครราชสีมา ให้กับนักศึกษาในรายวิชา 418111 ประวัติศาสตร์ศิลปะในประเทศไทย จำนวน 31 คน  ณ ปราสาทหินพนมวัน อำเภอเมือง แหล่งโบราณคดีบ้านธารปราสาท อำเภอโนนสูง อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย อำเภอพิมาย และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ในวันที่ 2 กันยายน 2560

เพื่อให้นักศึกษาได้มีโอกาสเรียนรู้สำรวจศึกษาจากสถานที่จริงในแหล่งประวัติศาสตร์และโบราณคดีท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมศักยภาพและประสบการณ์ในการสำรวจข้อมูลภาคสนาม การปรับตัวและทำงานเป็นกลุ่มร่วมกัน รวมถึงการสร้างจิตสำนึกและความตระหนักในความสำคัญของแหล่งโบราณคดีและแหล่งประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของชาติ และมีส่วนร่วมอนุรักษ์สถานที่สำคัญเหล่านี้ให้สืบเนื่องต่อไป



โดยนักศึกษาได้รับมอบหมายงานให้ทำบันทึกภาคสนามและรายงานกลุ่มส่งหลังออกภาคสนามเสร็จสิ้นแล้ว สำหรับสถานที่สำรวจศึกษาในครั้งนี้ ได้แก่ 

ปราสาทหินพนมวัน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา เป็นปราสาทหินที่สร้างในราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 สร้างขึ้นเป็นเทวสถาน ส่วนยอดหลังคาหักพังลงมา แต่ได้รับการบูรณะใหม่จนสมบูรณ์

แหล่งโบราณคดีบ้านธารปราสาท อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา เป็นทั้งแหล่งที่อยู่อาศัยและแหล่งฝังศพในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ประมาณ 2,500-3,000 ปีมาแล้ว มีรูปแบบทางวัฒนธรรมเฉพาะพิเศษ โดยเฉพาะภาชนะดินเผาที่เป็นเอกลักษณ์คือ ภาชนะดินเผาทรงปากแตรเคลือบน้ำดินสีแดง และภาชนะดินเผาพิมายดำ

อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา เป็นปราสาทหินที่สร้างบนพื้นที่ราบ และมีขนาดใหญ่ที่สุดที่พบในประเทศไทย สร้างด้วยหินทรายสีขาว เป็นพุทธสถานประดิษฐานพระพุทธรูปนาคปรก รวมทั้งยังพบประติมากรรมรูปเหมือนพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา เป็นสถานที่จัดเก็บและจัดแสดงโบราณวัตถุที่พบในอุทยานประวัติศาสตร์พิมาย และพื้นที่ใกล้เคียง โดยเฉพาะโบราณวัตถุในสมัยวัฒนธรรมเขมร โดยของจริงทั้งหมดจากบริเวณปราสาทได้ถูกย้ายมาเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์และสร้างของจำลองตั้งไว้ที่ตัวปราสาท


นักศึกษารับฟังการบรรยายจากวิทยากร และใช้เวลาในการสำรวจโดยรอบสถานที่และบันทึกภาพประกอบการเขียนบันทึก และบางสถานที่เช่น แหล่งโบราณคดีบ้านธารปราสาท วิทยากรได้พานักศึกษาเดินสำรวจภูมิประเทศ เพื่อให้เห็นถึงการเลือกใช้พื้นที่ของคนในยุคก่อนประวัติศาสตร์ รวมถึงการทำงานของนักโบราณคดี วิธีการศึกษาในพื้นที่

ผลจากการประเมินความพึงพอใจของนักศึกษาในการเข้าร่วมโครงการ นักศึกษามีความเห็นว่าควรจัดให้มีโครงการศึกษาดูงานในรายวิชานี้มากที่สุด ถึงร้อยละ 80 รองลงมาคือ การได้รับความรู้และประสบการณ์จากการเข้าร่วมในโครงการนี้ ร้อยละ 71 การนำความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้กับการศึกษาในหลักสูตร ร้อยละ 64.5 ความเหมาะสมของสถานที่ศึกษาดูงาน ร้อยละ 58.1 ความเชี่ยวชาญของวิทยากร ร้อยละ 51.6 และความเหมาะสมของระยะเวลาจัดงาน ร้อยละ 41.9 ตามลำดับ

ในด้านข้อเสนอแนะส่วนใหญ่มีเสนอแนะเกี่ยวกับระยะเวลาในการดำเนินโครงการที่น้อยเกินไป ควรเพิ่มเวลามากขึ้น หรือเพิ่มเป็น 2 วัน เพื่อให้ได้รับความรู้เต็มที่และเพียงพอ รวมถึงลำดับกิจกรรม ควรจัดลำดับให้เข้าชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมายก่อนเพื่อให้ได้รับความรู้พื้นฐานเบื้องต้นก่อนไปศึกษายังอุทยานประวัติศาสตร์พิมาย 

ในภาพรวมของโครงการบรรลุผลสำเร็จตรงตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ นักศึกษาได้รับประโยชน์ทั้งในด้านประสบการณ์จากการศึกษาในสถานที่จริง เทคนิควิธีการสำรวจและบันทึกภาคสนาม การทำงานร่วมกันจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์และความตระหนักเกี่ยวกับคุณค่าความสำคัญของแหล่งโบราณคดีและแหล่งประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของชาติ

"คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้เปิดสอนวิชาโท วิชาโทเลือกและเลือกเสรีประวัติศาสตร์เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่นักศึกษาระดับปริญญาตรีของคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์และนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น  โดยมุ่งหวังที่เสริมสร้างศักยภาพของนักศึกษาให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ โบราณคดี และศิลปวัฒนธรรมของชาติมากขึ้น รวมถึงการสร้างความตระหนักในการช่วยทำนุบำรุงรักษาสมบัติทางวัฒนธรรมของชาติ และยังสามารถนำความรู้ที่ได้ศึกษาไปประยุกต์ใช้ในการท่องเที่ยวและงานวิจัยต่อไป"












ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น